“เจ้าสัว” แต่เดิมชื่อ “เตีย หงี่ เฮียง” เป็นธุรกิจสินค้าของฝากประเภทหมูแผ่น กุนเชียง หมูหยอง ที่เริ่มในบ้านหลังเล็กๆ ในจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่ปี 2501 ซึ่งเวลานั้น…จัดว่าเป็นของดี ของดัง อย่างหนึ่งของเมืองโคราชเลยทีเดียว
กระทั่งผ่านไปราว 30 ปี ใน พ.ศ. 2531 ช่วงนั้นเริ่มมีคู่แข่งเกิดขึ้นหลายรายด้วยกัน ทำให้ทายาทรุ่น 2 ต้องมองหาสิ่งใหม่เพื่อสร้างความแตกต่าง และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ของตน ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการทรานส์ฟอร์มอย่างย่อมๆก็คงไม่ผิดนัก ได้แก่…1.การเปิดตัว ‘ข้าวตังหมูหยอง’ เมนูใหม่เอี่ยมอ่องในเวลานั้น และ 2.การเปลี่ยนชื่อจาก “เตีย หงี่ เฮียง” มาใช้ชื่อ “เจ้าสัว” ที่ดูทันสมัยและจดจำได้ง่ายขึ้น
ต่อมาในปี 2563-2564 ทายาทรุ่นสามได้เล็งเห็นกระแสโลกที่หมุนสู่เกมการตลาดใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิมมากมาย จึงปรับตัวจากสินค้าที่เป็นของขวัญของฝาก ก้าวสู่การเป็น Everyday Consumption คือเป็นแบรนด์อาหารและของทานเล่นที่กินได้ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็น ข้าวตัง, หมูแผ่นกรอบ, หมูแท่งกรอบ และหมูทุบ และยังบวกการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีดีไซน์ทันสมัย หลายขนาดตามไลฟ์สไตล์แต่ละคน
เรียกว่า “เจ้าสัว” ได้ลุกขึ้นทรานส์ฟอร์มแบรนดิ้งของตัวเองขนานใหญ่ ทำให้แม้จะอยู่ในยุคโควิด19 กระหน่ำในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา “แบรนด์เจ้าสัว” ก็ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจมาได้อย่างใสใส สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจมากถึง 15 -30 % ทำรายได้รวมเกินหลักพันล้านบาท ทำให้กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่รวยสวนกระแสชาวบ้านเค้าเลยก็ว่าได้
ทั้งหมดข้างต้นนี้ เป็นบทเรียนชั้นดี ที่สะท้อนถึงความเข้าใจในการสร้างแบรนด์ที่ถูกต้องของเจ้าของธุรกิจ เข้าใจในวัฎจักรชีวิตของแบรนด์ว่า…เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาหนึ่ง ยุคหนึ่ง พฤติกรรมหนึ่ง ที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา… “แบรนด์” ต้องได้รับการปรับและเปลี่ยนให้เข้ากับความเป็นปัจจุบันขณะด้วย มิเช่นนั้นอาจจมหายไปตามกาลเวลาเหมือนกับสินค้าที่เคยดังๆในอดีต ที่ปัจจุบันไม่มีอยู่ในตลาดอีกแล้วนั่นเอง