โครงการ ‘ศิตา พาดูแบรนด์’ ที่ ‘ศิตา เอเจนซี่’ เปิดรับแบรนด์จากบรรดาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศที่สนใจเข้าโครงการเพื่อสร้างแบรนด์ สร้างยอดขาย โดยมี ‘ศิตา เอเจนซี่’ เป็นพี่เลี้ยงติวเข้มภายในช่วงระยะเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ จากบรรดาแบรนด์ต่างๆ ที่สนใจสมัครเข้าโครงการกว่าครึ่งร้อย ได้รับการคัดเลือก 3 แบรนด์ตามที่โครงการประกาศไว้แต่แรก โดยเป็นแบรนด์ในภาคธุรกิจที่แตกต่างกัน
ธนิดา เกลอแก้ว หรือ ‘ซินดี้’ นักยุทธศาสตร์แบรนด์ ได้ชี้ถึงจุดอ่อน จุดแข็ง และแนวทางว่าจะ ‘ไปต่อ’ อย่างไร
หลักเกณฑ์ในการเลือกแบรนด์สินค้าของโครงการ ‘ศิตา พาดูแบรนด์’
จากบรรดาแบรนด์ทั้งหมดที่ส่งเข้าในโครงการกว่าครึ่งร้อยนั้น เราไม่ได้คัดเลือกแบรนด์ที่ดีที่สุด หรือแบรนด์ที่เก่งที่สุด แต่เราเลือกแบรนด์จากสองข้อหลักๆ อันแรกคือความชัดเจนใน BUSINESS MODEL ของเขา อันที่สอง คือความคิดในเชิงสร้างสรรที่มีต่อตัวสินค้า และบริการของเขา โดยแบรนด์ที่เราเลือกครั้งนี้ จะมีทั้งแบรนด์ที่มีเงินทุนมาก และแบรนด์ที่มีเงินทุนน้อยคละกัน
ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพื่อที่จะมีโอกาสสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าของสินค้า และบริการที่ยังเข้าใจว่า การสร้างแบรนด์จะต้องใช้เงินมาก ต้องลงทุนมหาศาล ซึ่งแท้จริงมิได้เป็นเป็นเช่นนั้นซะทั้งหมด เพราะเอาเข้าจริงหากคุณไม่เข้าใจในการสร้างแบรนด์ ถึงจะใช้เงินถมไปเท่าไหร่ ก็ไม่เกิดผลลัพธ์ที่ดีอย่างที่ต้องการ แต่ตรงกันข้าม…หากมีความเข้าใจใน ‘แบรนด์ดิ้ง’ และมีความคิดสร้างสรรในเชิงกลยุทธ์ที่ดี บางทีผลลัพธ์ที่ได้ อาจมหาศลากว่าเม็ดเงินที่ใช้ออกไปหลายเท่านัก ซึ่งนี่เป็นเพียงบางส่วนขององค์ประกอบที่เราทำการคัดเลือกจนได้สินค้า 3 แบรนด์ที่มีความหลากหลายในปีนี้
3 แบรนด์ที่ได้รับคัดเลือกในปีนี้ ประกอบด้วย แบรนด์อะไรบ้าง
แบรนด์แรก ‘โอวาโด’ (Ovado) เป็นกลุ่มสินค้าสุขภาพที่ยังคงเป็นเทรนด์ฮิตของตลาดโลกที่จะไปต่อได้ ส่วนแบรนด์ที่สองเป็นกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป คือ ก๋วยเตี๋ยวเรือแบรนด์ ‘ปายนา’ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าจำเป็นคู่โลก โดยเห็นได้จากกระแสความตระหนกจากข่าววิกฤติอาหารโลก ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ และแบรนด์ที่สาม คือ Gloss เป็นสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ความงาม ซึ่งเป็นอีกกลุ่มสินค้าที่ยังคงอยู่ในกระแสเทรนด์ของโลกอีกเช่นกัน
แล้ว 3 แบรนด์มีจุดอ่อน จุดแข็งหรือไม่ และเราต้องทำให้ ‘มูฟออน’ ได้อย่างไร
3 แบรนด์นี้มีจุดอ่อน จุดแข็ง และปัญหาคนละแบบ กล่าวคือ
สำหรับแบรนด์ ‘โอวาโด’ (Ovado) มีจุดแข็งที่สร้างมาแทบจะครบแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของโปรดักท์ ที่มีการจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อีกทั้งยังมีรางวัลจากสถาบันต่างๆ มาสนับสนุนความน่าเชื่อถือ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์โดยตรงกับสินค้ากลุ่มอาหารเสริม โดยแบรนด์นี้มีฟาร์มปลูกอะโวคาโดเองโดยตรง ชื่อบริบูรณ์ฟาร์ม อยู่จังหวัด นครราชสีมา จากนั้นจึงนำมาผลิตเป็น ‘อะโวคาโด ซอฟต์เจล’ ทำแบรนด์เอง แล้วขายผ่านช่องทางออนไลน์ก่อน
ความท้าทายของแบรนด์นี้ คือเรื่อง ‘โลโก้และชื่อแบรนด์’ ซึ่งแม้จะดูว่าเป็นอะไรเล็กๆ ที่วางอยู่บนผลิตภัณฑ์ แต่เอาเข้าจริงแล้ว มันคือปัญหาใหญ่ที่อาจนำไปสู่คำว่า ‘รุ่ง’ หรือ ‘ร่วง’ ของแบรนด์ได้เลย เพราะถ้าคนจำชื่อแบรนด์ไม่ได้ บอกชื่อแบรนด์ไม่ถูก จะเกิดการซื้อหรือพูดถึงได้อย่างไร ตอนนี้เรากำลังให้ทีมงานของบริษัท ศิตา เอเจนซี่ ระดมไอเดียเพื่อออกแบบโลโก้ใหม่ให้ดูเป็นตัวอย่าง รวมถึงคิดไอเดียเพื่อเป็น CREATIVE CONCEPT ใหม่ๆ ในการสื่อสารแบรนด์ของ ‘โอวาโด’ ในมุมอื่นๆ ให้ว้าวขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
ต่อมาคือ..แบรนด์ก๋วยเตี๋ยวเรือ ‘ปายนา’ ถ้าดูเผินๆ เขาก็ทำภาพโฆษณาได้สวยงาม แต่สำหรับเรา มองว่าเป็น ‘ความสวย ที่ไม่สื่อ’ เพราะมันดูแน่นไปหมด จึงทำให้ขาดสเน่ห์ในการสร้างความจดจำไปอย่างน่าเสียดาย ที่สำคัญคือเราจะพยายามเน้นจุดขายในความเป็นถ้วยร้อนคือ ‘เติมน้ำปิดฝาแล้วทานได้เลย’ อร่อยบวกสะดวกตอบโจทย์ชีวิตคนไทยยุคใหม่ได้ดี
นอกจากนี้ยังจะมีเรื่องของการสื่อสาร กระตุ้นให้ผู้บริโภค สามารถสัมผัสถึงความอร่อยของก๋วยเตี๋ยวเรือปายนาได้ ตั้งแต่ที่ยังไม่ได้ชิม ซึ่งถือเป็นงานที่ท้าทายของซินดี้ และทีมงานบริษัท ศิตา เอเจนซี่ มากๆ แต่ก็เชื่อว่าเราทำได้ และ ณ วันนี้ เจ้าของแบรนด์ยืนยันว่า จะขายทางช่องทางออนไลน์ และโซเชียลมีเดียเท่านั้น การคิดคอนเทนต์ดีๆ โดนๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่แบรนด์นี้จะขาดไม่ได้
ส่วนแบรนด์ที่ 3 คือ Gloss ต้องบอกว่าเค้ากล้าหาญมากที่คิดทำสินค้า TYPE นี้ในตลาดประเทศไทย เพราะโดยทั่วไป คนไทยมีสมการในมโนคติมายาวนานเหลือเกินว่า ขาว=สวย, สวย=ขาว คือยังคงวนในเรื่องความขาวอยู่แล้วที่ผ่านมาที่ Gloss สื่อสารแบรนด์ด้วย KEY WORD ที่ว่า ‘หน้าเงา’ อันนี้จึงดูอันตราย เพราะอาจก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนแก่ผู้บริโภคคนไทยได้ เนื่องจากบ้านเราเป็นเมืองร้อน เมื่อใช้คำว่า ‘หน้าเงา’ คนจะคิดว่านั่นเท่ากับ ‘หน้ามัน’ ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะทำให้ ‘หน้าเงา’ = ‘ผิวหน้า ฉ่ำน้ำ สุขภาพดี’ อันนี้จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายอันดับหนึ่งของเราเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังจะต้องมีการปรับ AD และ CONTENT ให้เป็น AD ที่สามารถสื่อสารแบรนด์ให้มากกว่าที่เคยทำผ่านๆ มาอีกด้วย เพราะถ้า AD ‘สวย’ แต่ ‘ไม่สื่อ(สาร)’ ผลลัพธ์คือเท่ากับ ‘ศูนย์’
การติวเข้มภายใน 3 เดือนเมื่อเข้าร่วมกับ ‘โครงการศิตา พาดูแบรนด์’ คืออะไร
เดือนแรกต้องให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ก่อน และชี้ให้เห็นว่า ทำไมจะต้องสร้างแบรนด์และสิ่งที่แต่ละแบรนด์ได้ทำผ่านมานั้นตอบโจทย์อะไร ส่วนเดือนที่สองคือ การพัฒนาในจุดต่างๆ ที่เห็นว่ายังเป็นจุดอ่อน และเดือนที่สามจะเป็นการต่อยอดจุดแข็งของตนเองให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
คาดหวังอะไรกับโครงการนี้
เราคาดหวังให้คนเห็นความสำคัญของการสร้างแบรนด์ เพราะใครที่ขาดตรงนี้จะทำให้ไปไม่ถึงดวงดาวอย่างน่าเสียดาย ในยุคนี้นอกจากจะต้องทำโปรดักท์ให้ดีแล้ว ก็ยังจะต้องสร้างแบรนด์ให้ดีควบคู่กันไปอีกด้วย
สร้างแบรนด์ให้ดัง ใช้ตังค์เยอะมั้ย
ยอมรับว่ามีคนถามเยอะเลยว่า ‘สร้างแบรนด์ให้ดัง ใช้ตังค์เท่าไร’ หรือ ‘สร้างแบรนด์ให้ดังใช้ตังค์เยอะมั้ย’ จริงๆ ในการสร้างแบรนด์นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นแบรนด์ใหญ่ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะเสมอไป ถ้ามีความคิดสร้างสรรค์ และรู้จักการใช้กลยุทธ์ดีๆ ที่เหมาะกับสินค้าตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม…ก็ต้องยอมรับว่า การสร้างแบรนด์โดยมีเงินสนับสนุนเยอะๆ ก็ถือเป็นความได้เปรียบของแบรนด์นั้นๆที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน แต่สำหรับบริษัท ศิตา เอเจนซี่ และ ซินดี้ เราทำงานในแบบที่ดีไซน์ให้เหมาะสมกับภาคธุรกิจและงบประมาณของลูกค้าที่มี ดังนั้นตังค์เยอะตังค์น้อย เราสามารถทำให้ได้หมด พร้อมกับมีผลลัพธ์ที่สัมพันธ์กับงบประมาณที่ลูกค้ามีอยู่ โดยจะพูดคุยก่อนเริ่มทำงานร่วมกันอย่างชัดเจนในทุกๆ มิติ
และที่เป็นห่วงมากๆ คือ..ในคนที่ยังเข้าใจว่า แค่มีเงินผลิตสินค้าจากโรงงาน จากนั้นก็เอามาโพสต์ในเฟซบุ๊คแล้วก็ยิง AD เท่านี้ก็ขายของได้ ถ้าคิดเท่านี้อยากให้ระวัง เพราะหลายแบรนด์เจ๊งไม่เป็นท่า แทนที่จะได้เป็นอายุน้อยร้อยล้าน ต้องกลายเป็นอายุน้อยร้อยลี้หนี้ท่วมตัวไปได้ง่ายๆ ดังนั้นก่อนจะลงมือทำสิ่งใดอยากให้ศึกษาหาความรู้ให้ดี ก่อนลงมือทำ, ก่อนการลงทุน หรือไม่ก็ควรที่จะมีที่ปรึกษาดีๆ เข้ามาช่วยให้มีมุมมองทางธุรกิจกว้างไกลขึ้นดีกว่าที่จะดุ่มๆ คิดเอง ทำเอง นักเลงพอ อะไรแบบนั้น คือไม่อยากให้นักเลงต้องมานั่งเสียใจเอง ก็เท่านั้นเองอ่าค่า