OMG !! หาก “โอไมครอน” มาเป็นเวฟใหม่ แบรนด์เอ๋ยแบรนด์ จะรับมืออย่างไร ?

     แม้จะเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกให้กับภาคธุรกิจในภาพรวม แต่ก็มีความหวั่นใจกันอยู่บ้างว่า หากเกิด ‘เวฟใหม่’ ในเร็ววัน จากเจ้า ‘โอไมครอน’ โควิด-19 กลายพันธุ์ตัวล่าสุด แล้วแบบนี้แบรนด์จะรับมืออย่างไร

 

     ครั้งนี้ ธนิดา เกลอแก้ว หรือ ซินดี้‘ นักยุทธศาสตร์แบรนด์ แห่ง ศิตา เอเจนซี่ อยากให้ ReThink เพื่อนำมาใช้ในห้วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็น ‘เกร็ดกลยุทธ์‘ ที่สามารถ Remind ได้ในช่วงเวลาแห่งความท้าทายนี้

‘ลดราคา’ พาไม่รอด

 

     “ตอนนี้จะเห็นสัญญาณการลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ เกิดขึ้นอย่างระรานตา แม้แต่รถยนตร์แนวหรูหราบางค่าย ซึ่งตามปกติสินค้าใน TYPE นี้ มักขายความภูมิใจจากศักยภาพทางการเงินที่พร้อมจ่ายของลูกค้า เรียกว่ายิ่งแพงคนยิ่งใฝ่ฝัน แต่มาบัดนี้…เริ่มเห็นการปรับลดราคาลงมาบ้างแล้ว 

  

     นอกจากนี้…รถมือสองก็มีราคาถูกลงเรื่อยๆ และจะเห็นได้ว่า บรรดาแบรนด์ต่างๆ ก็ขยันส่งโปรโมชั่นเพื่อขายกันในช่วงนี้ ฯลฯ นั่นคงเพราะต่างต้องการตุนยอดขายกันไว้ก่อน ด้วยเกิดจากเก็งสถานการณ์ไว้เหมือนๆ กันว่า “การแพร่ระบาดหรือ ‘เวฟใหม่’ มาแน่ๆ !!! “

 

     ซินดี้ ยังเพิ่มเติมถึงมุมกลับของการใช้กลไกราคาผ่านโปรโมชั่น Double-Digit อย่าง 11.11, 12.12 หรือ Black Friday ฯลฯ ว่า…

 

     “ซินดี้ ไม่ได้ส่งเสริมให้มีการขายของแพงนะ เพียงแต่อยากให้ตระหนักถึง กลยุทธ์การขายที่จะไม่กระทบกับแบรนด์ตัวเองในอนาคตด้วย โดยอยากให้เห็นอีกด้านของกลยุทธ์การลดราคาว่า มันอาจเป็นหนทางแห่งความหายนะของตลาด และแบรนด์ในระยะยาวได้ เพราะเอาจริง ต่อให้ลดเท่าไรก็ไม่พอ เพราะยิ่งนานวันคนจะรอแต่การลดราคา และคิดว่า รอบต่อไปราคาอาจต้องถูกและถูกได้อีก

 

     สุดท้ายอาจทำให้กลับมาขายในราคาปกติไม่ได้ ดังนั้นอย่าปล่อยให้ตัวเองโดนสะกดจิตว่า “เศรษฐกิจไม่ดี ..ทำให้ขายของไม่ดี” เพราะถ้าบริบทนี้ศักดิ์สิทธิ์จริง เพราะเหตุใด สินค้าแบรนด์เนมหลายแบรนด์ ถึงสามารถปรับราคาขายขึ้นได้ทุกปี ในอัตราที่สูงกว่าการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเสียอีก“   

 

 

4C-Strategy

 

     ซินดี้ ให้มุมมองถึงการปรับกระบวนยุทธ์ในสถานการณ์ เช่นนี้ว่า ความแปลกใหม่เพื่อสร้างสีสัน หรือทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า มีความสดใหม่ถือเป็น ‘คีย์เวิร์ดเชิงกลยุทธ์’ ที่สำคัญ เพียงแต่ Re Think จากสินค้าของแบรนด์ตนเอง

 

     เกร็ดกลยุทธ์ 4C ที่เธอให้ไว้ นั่นคือ ‘Create – Combo – Continue – Collaboration’

  • Create การสร้างสรรค์เพื่อความแปลกใหม่และเพิ่มมูลค่าหรือคุณค่าให้กับสินค้าหรือบริการองตนเอง

          ซินดี้ ยกตัวอย่างถึงกลยุทธ์นี้ ว่า อย่างเครื่องดื่มต่างๆ ที่มีการออกรสชาติใหม่ๆ หรือขนมเด็ก อย่างคุกกี้โอริโอ้ ที่เดิมเคยนำเสนอว่า โอริโอ้ จะช่วยให้การดื่มนมได้อร่อยขึ้น แต่วันนี้โอริโอ้ นำเสนอเพิ่มคือใช้ผสมกับไอศกรีม หรือเครื่องดื่มอื่นๆ ได้ ฯลฯ” นี่แหละคือ Create ทางรอดแบบยาวๆ ของสินค้าและบริการทั้งหลาย

  • Combo การจัดชุดหรือการจัดหมวดหมู่ใหม่ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างจากการขายแบบเดิมๆ

          “วิกฤติเศรษฐกิจโลกแบบนี้ ผู้บริโภคย่อมมีเงินสดในมือน้อยลง ดังนั้น แม้ว่าเรายังคงต้องอิงกับ “กำลังซื้อของผู้บริโภค” แต่เพื่อหลีกเลี่ยงคำว่า ‘ลดราคา’ ก็ควรสร้าง Movementใหม่ๆ ของสินค้า อย่างที่มีกระแสแรงๆ ชัดๆ ช่วงไม่กี่เดือนนี้ ก็คือการทำ ‘กล่องสุ่ม’ ในตลาดออนไลน์ นี่คือตัวอย่างที่ชัดมากในสูตรการทำ Combo 

  • Continue การพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพื่อรีเฟรชสินค้าในแบรนด์พอร์ตโฟลิโอ

          “ความใหม่ไม่ใช่แค่จัดเป็นซีรีย์เท่านั้น หากแต่ยังหมายถึง การเพิ่มความใหม่ในตัวสินค้าที่มีการอัพเดท หรือ ปรับสูตรให้มีประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น เช่นเสริมคุณสมบัติของส่วนประกอบเดิมของสินค้า, พัฒนาส่วนประกอบของวัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม เช่น เดิมอาจเป็นเวอร์ชั่น 1.0 ตอนนี้ก็พัฒนาเป็นเวอร์ชั่น 2.0 แล้ว หรือผ้าอนามัยที่เป็นแค่ผ้าซับเลือด แต่ก็ยังคงต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้สินค้ามีคุณสมบัติโดดเด่นเพิ่มขึ้น เช่น แบบมีปีก, แบบยาวพิเศษ, แบบกลิ่นชาเขียว, สารสกัดจากถ่าน (Charcoal) เพื่อล็อกกลิ่น หรือผ้าอนามัยแบบกางเกง ฯลฯ”

  •  Collaboration การจับมือกับพันธมิตร

          ซินดี้ให้ข้อคิดกับแบรนด์เพื่อสร้างความแข็งแรงของตนเองว่า “การสร้างความแข็งแรงให้กับแบรนด์นั้นอาจไม่จำเป็นต้องลงทุนเอง หรือทำอะไรที่ไม่ถนัดนอกสายงานที่เป็นธุรกิจหลัก (Core Business) แต่เราสามารถจับมือกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อสร้างเสริมความแข็งแรงให้กับตนเองในส่วนที่ตนเองขาดไป ปิดจุดอ่อนของตนเองและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน

 

          ซึ่งการจับมือกันนี้ ก็เป็นกลยุทธ์ที่แบรนด์ใหญ่ทำกันทั่วโลก อย่างบ้านเราก็มีให้เห็นหลายแบรนด์ เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม ทรู X ดีแทค, ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก แมคโคร X โลตัส และที่เห็นกันอย่างมากขณะนี้คือ การจับมือของ ‘Bitkub’ ธุรกิจเทรดสกุลเงินดิจิทัลกับหลายๆ แบรนด์ในหลายๆ อุตสาหกรรม

อย่าเป็น ‘ของตาย’      

 

     “ในช่วงเวลาแห่งความท้าทายนี้การวางยุทธศาสตร์ของแบรนด์ต้องกระชับ ฉับไว รวดเร็ว ทำให้ลูกค้าจดจำให้ได้มากที่สุด อีกทั้ง ต้องสามารถสร้างแรงจูงใจอย่างมากด้วย ที่สำคัญ ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่ใครๆ บอกว่า ทำให้ขายของยากจริงๆ ต้องย้อนดูตนเองด้วยว่า คุณทำตัวเป็น ‘ของตาย’ หรือเปล่า อย่าสะกดจิตตัวเองว่า ‘มันจะไปไม่ไหว’, ‘เราถึงทางตันแล้ว’…NO NO NO สระโอบวกๆ ค่ะ…จริงๆ ขอเพียงแต่เราต้องหยุดคิด แล้วคิดใหม่ ปรับกลยุทธ์ใหม่ว่า ตรงไหนเราจะทำได้ ไปได้ แล้วตรงไหนที่เรายังไม่ได้ทำ ไม่ได้มองหรือมองข้ามไป เพราะนั่นย่อมหมายถึงการมองข้ามโอกาสของตนเองด้วย

 

     ตัวอย่างเช่น ‘มาม่า’ แบรนด์คู่บ้านคู่เมืองแบรนด์หนึ่งของไทย ที่ทุกบ้าน ทุกรถเข็น ทุกสถานการณ์ เรียกว่า ‘ของมันต้องมี’ จริงหรือไม่…ลองนึกดีๆ เวลาน้ำท่วมคนวิ่งไปห้าง 9 ใน 10 คนหยิบมาม่าใส่ตะกร้าไว้ก่อนหรือไม่…ช่วงโควิดที่ต้องอยู่บ้านรักษาระยะห่างทางสังคม เวลาเราวิ่งไปร้านค้า เราก็มักจะหยิบมาม่าติดมือเข้าบ้านมาด้วยมั๊ย ฯลฯ  

 

     แม้ทุกวันนี้มาม่าจะอยู่ในมโนของผู้บริโภคในลำดับต้นๆ กระทั้งชื่อ ‘มาม่า’ ได้กลายเป็น Generic Name สำหรับเรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปแล้ว แต่มาม่าไม่เคยทำตัวเป็น ‘ของตาย’ เพราะเรายังคงเห็นการพัฒนาออกไปเรื่อยๆ มีหลายรสชาติ หลายรูปแบบ ทั้งแบบซองแบบถ้วย หรือแม้แต่เกาะกระแสเกาหลี ด้วย ‘มาม่า OK ออเรียนทัลคิตเชน’ เส้นบะหมี่แบบเกาหลี” 

 

     ซินดี้ กล่าวทิ้งท้ายในครั้งนี้ว่า…อยากให้มองคนที่เค้าทำสำเร็จอย่างพิจารณาและอย่าไปหาทำกับคนที่เค้ามักจะบอกคุณว่า ไม่ได้หรอก ไม่ดีหรอก ไม่มีหรอก ถ้าเลือกได้แบบนี้รับรองยังไงแบรนด์คุณก็รอดรับรอง แต่ถ้าใครยังไม่มั่นใจในทางของตัวเอง จะมาปรึกษาพูดคุยกับ บริษัท ศิตา เอเจนซี่ จำกัด หรือ ซินดี้ ก็ยินดีนะคะ เพราะเราเข้าใจ และพร้อมเสมอที่จะผลักดันให้แบรนด์ทุกแบรนด์ ยังคงก้าวไปต่อให้ได้แม้ในช่วงที่ยากลำบากเช่นนี้ค่ะ