Let’s Celebrate !! “ส่งความสุข สนุก” กับแบรนด์

     ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องอยู่กับโลกใบนี้ไปอีกพักใหญ่กว่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นอย่างที่บอกๆ กัน แต่ผู้คนวันนี้ก็มีอารมณ์ ‘ชิลล์’ กันล่วงหน้าแล้ว รอฉลอง ลอยกระทง คริสต์มาส ปีใหม่ฯลฯ ดักหน้ากันอย่างใจจดใจจ่อ อยากออกไปนอกบ้าน ‘เม้าท์มอย’ กับเพื่อน ญาติ คนสนิท คนรู้ใจ ฯลฯ

 

     อยากใช้ชีวิตเยี่ยงปกติเต็มทีเหมือนก่อนหน้าเกิดโควิด-19 ยิ่งใกล้สิ้นปีอย่างนี้แล้วแบรนด์จะเข้าไปร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความสุข ความสนุกกันอย่างไรกันดี เพราะมู้ดอยากออกนอกบ้าน อยากช้อปน่ะมีแน่ๆ แต่ก็มีมู้ดอยากประหยัดด้วย เพราะไม่รู้ว่า โควิด-19 จะอยู่นานแค่ไหน

 

     ‘ธนิดา เกลอแก้ว’ หรือ ซินดี้‘ นักยุทธศาสตร์แบรนด์ แห่ง ศิตา เอเจนซี่ ได้นำเสนอมุมมองเพื่อปิดช่องว่าง มู้ดอยากออก – อยากช้อป แต่กระเป๋ายัง ‘กรอบ’ ให้แบรนด์สามารถเข้าไปแทรกตัวได้อย่างน่าสนใจ

 

มู้ด ‘มันต้องฉลอง’ !!!

 

     ปีใหม่ทั้งทีก็ตั้งเป้าเคาน์ดาวน์กัน มู้ดมันมาแล้ววววว

 

     แต่แบรนด์จะร่วมฉลองอย่างไรให้เล่นไปกับมู้ด ‘มันต้องฉลอง’ !!!

 

     “ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องหาความพอดีเหมือนกัน เพราะในขณะที่คนทั่วไปกำลังลำบากเพราะโควิด-19 แถมซ้ำเติมกันด้วยปัญหาน้ำท่วม ทำให้คนไทยที่พอจะลืมตาอ้าปากได้ ต้องถูกซ้ำเติมอีกครั้ง ถ้ารื่นเริงเกินพอดีก็อาจดูไม่งาม และจะเหมือนเรารื่นเริงอยู่คนเดียวหรือเปล่า ขณะที่คนไทยยังลำบากกันทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม ‘ความพอดี’ ตรงนี้ก็ไม่มีสูตรสำเร็จ แค่ไหนจึงจะเรียกว่า พอดีหรือไม่พอดี ทั้งนี้ เจ้าของแบรนด์ต้องประเมินเองให้ดี แต่ในช่วงที่มู้ดคนอยากฉลองมาแล้ว แบรนด์จะไม่ร่วมเทศกาลเฉลิมฉลองก็ย่อมจะ ‘ไม่ใช่’ อีกนั่นละ” ซินดี้ กล่าว

 

 

Re-Think จากสิ่งที่มี

 

     ซินดี้ กล่าวว่า “การที่แบรนด์จะร่วมเฉลิมฉลอง มอบความสุข ความสนุกให้กับลูกค้านั้น เริ่มกันได้ง่ายๆ Re-Think จากการพิจารณาสิ่งที่ตนเองมีเสียก่อน จากนั้นก็ทำ Brand Activation เพื่อเน้น และกระตุ้นให้เกิดการบริโภคสินค้าหรือใช้บริการของแบรนด์นั้นๆ และสร้างยอดขายช่วงท้ายปีสำหรับธุรกิจ หลังจากที่ต้องเผชิญความท้าทายจากโควิด-19 นับแต่ปี 63 “

 

     ทั้งนี้ การส่งความสุข สนุกได้ไม่ยั้งจากแบรนด์นั้นสามารถใช้กลยุทธ์ Re-Think เป็นสปริงบอร์ดได้ จากมุมมองในมิติต่างๆ อาทิ

  • Customer Lifestyle การจัดกลุ่มลูกค้าตามไลฟ์สไตล์ อาทิ ลูกค้าสายกิน สายเที่ยว สายบิวตี้ สายบุญ สายสนุก สายบันเทิง สายช้อป ฯลฯ เพื่อที่แบรนด์จะได้ส่งลูกเล่นที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ และเป็น Brand Activation ที่ทรงพลัง
  • Re-Grouped Product การนำสินค้าที่มีมาจัดกลุ่มใหม่ นึกภาพง่ายๆ ก็ประเภทเมนู Combo Set ของร้านฟาสต์ฟู้ดนั่นละที่จะมีทั้งไก่ทอด เฟรนช์ฟรายด์ น้ำอัดลม สลัด ฯลฯ อยู่ด้วยกัน แล้วขายให้เราเป็นราคาชุด สำหรับสินค้าอื่นๆ ก็สามารถนำมาขายในช่วงเทศกาลได้ ในรูปแบบของ Gift Set หรือชุดของขวัญที่มีสินค้าต่างประเภทกันมาอยู่ด้วยกัน เพื่อทำ Cross- Selling เป็นกระเช้าของขวัญ หรือบรรจุในกล่องที่ออกแบบเพื่อโอกาสแห่งการเฉลิมฉลองเป็นกลยุทธ์ Refresh Packaging หรืออาจเป็นการจัดกลุ่มสินค้าเพื่อให้มอบกับกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่มแยกเซ็กเม้นท์ เช่น แทนการมอบความรัก ความห่วงใยให้กับผู้ใหญ่ที่รัก และเคารพ หรือแทนการทักทาย แทนความปรารถนาดีจากเพื่อนฝูงที่อยากส่งใจให้เพื่อนรักทราบ ฯลฯ
  • Pricing – Driven Strategy กลยุทธ์ที่ใช้โครงสร้างราคานำ เพื่อให้กลุ่มลูกค้าที่อยากสนุก แต่ไม่ต้องทุกข์ถนัดกับงบที่บานปลาย ด้วยการนำเสนอสินค้า/บริการแบบบอกราคาก่อนอย่างร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ยังไงยังงั้น เช่น กลุ่มราคาสินค้าไม่เกิน 499 บาท, ไม่เกิน 799 บาท หรือไม่เกิน 1,000 บาท เป็นต้น หรือการใช้ราคานำอีกกลุ่มและได้ผล ทำให้ลูกค้าตัดสินใจได้ไม่ยาก คือ การเสนอแพคเกจราคาพิเศษ ‘ฟรีค่าขนส่ง’ สำหรับกลุ่มสินค้าที่วางขายบนแพลตฟอร์ม อี-คอมเมิร์ซ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการแจกโค้ดส่วนลด สำหรับแคมเปญการจัดโปรโมชั่นของแบรนด์ เป็น New Year Code, Best Wishes Code, Happy Sharing Code ฯลฯ แล้วแต่จะตั้งชื่อเพื่อให้สื่อถึงการเฉลิมฉลอง
  • Good Deeds with Good Brand ในช่วงโควิด-19 เราจะได้เห็นการทำกิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบทางสังคม หรือ  CSR กันมาก ไม่ว่าจะเป็นการแจกข้าวกล่อง หน้ากาก เจลแอลกอฮอลล์ หรือแม้แต่การร่วมสมทบทุนแจกอุปกรณ์การแพทย์ ห้องไอซียูในโรงพยาบาลสนาม นอกจากนี้ ในช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง แบรนด์ก็สามารถจัดกิจกรรม เพื่อให้ผู้บริโภคร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยกลยุทธ์ Good Deeds with Good Brand หรือ ‘การทำดีกับแบรนด์ดี’ ได้ เช่น ทุกๆ การซื้อจำนวน XX บาท แบรนด์จะนำไปสมทบทุน X บาท เพื่อสร้างสาธารณประโยชน์, หรือการแลกพ้อยท์ จากการซื้อสินค้า/บริการของแบรนด์ เพื่อสมทบทุนให้กับมูลนิธิต่างๆ ฯลฯ

ให้ลูกค้าสร้างคอนเทนท์กับแบรนด์

 

     ซินดี้ กล่าวถึงเทรนด์การเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์กับลูกค้าเพิ่มเติมว่า

 

     “จากเทรนด์โซเชียลเน็ตเวิร์คในปัจจุบันที่ทำให้ใครๆ ก็สามารถเป็น Content Creatorได้ นี่จึงเป็นสปริงบอร์ดที่ดีของแบรนด์อีกเช่นกัน ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมกับแบรนด์ ด้วยการส่งคอนเทนต์ของตนเองเข้ามา อย่างที่เรียกว่า Branded Entertainment ซึ่งเป็นการนำเอาแบรนด์เข้าไปเชื่อมโยงกับรายการบันเทิง หรือภาพยนตร์ เช่น รายการศิริราชคอนเนค รายการเอสเอ็มอี ตีแตก ที่เคยโด่งดังเมื่อก่อน ทั้งนี้ การทำ Branded Entertainment จะมีระดับของการมีส่วนร่วมของแบรนด์มากกว่าการทำ Product Placement ซึ่งเป็นการวางสินค้าที่มีแบรนด์ไปแทรกตามฉากหลังของละคร รายการข่าว ฯลฯ”

ตัวอย่างของการเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถสร้างคอนเทนต์กับแบรนด์ได้ เช่น

  • ทำแคมเปญประกวดเต้น (Dance Contest) ของแบรนด์ ด้วยการให้ผู้ส่งประกวดส่งคลิปเข้ามาร่วมสนุก และตัดสินรางวัลในช่วงปีใหม่ จะได้ฉลองกันจริงๆ หรือแบบเสมือนจริง (Virtual) ก็แล้วแต่
  • ให้กลุ่มเป้าหมายตอบคอมเม้นต์ทางหน้าเฟซบุ๊ค แฟนเพจ หากแบรนด์จัดคอนเสิร์ตเคานท์ดาวน์จะไปกับใคร แล้วให้ Tag เพื่อนมาด้วย เพื่อขยายฐานการรับรู้กับแบรนด์
  • แจก e-Voucher ร้านกาแฟชื่อดัง แล้วให้กลุ่มเป้าหมายบอกเครื่องดื่มเมนูโปรดของแบรนด์มา หรืออยากให้แบรนด์คิดเมนูเครื่องดื่มอะไร ไอเดียใครเจ๋งก็เอารางวัลไปเลย
  • ลุ้นรับของพรีเมี่ยมที่มีโลโก้ของแบรนด์ แค่ถ่ายภาพของตนเองกับอะไรก็ได้ที่มีแบรนด์ของเรา อาจจะเป็นดิสเพลย์สินค้า โฆษณาของแบรนด์ทางทีวี กับสินค้าที่ใช้จริง

     ซินดี้ กล่าวในตอนท้ายว่า “ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การทำกลยุทธ์การตลาดไม่จำเป็นต้องใช้งบเยอะ แต่อาจต้องใช้ความคิด ไอเดียที่มองรอบด้าน แหลมคม ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการ หรือเจ้าของแบรนด์ สามารถสร้างยอดขายจากการทำ Brand Activation ได้ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลส่งความสุขกันเช่นนี้ เพียงแต่ต้องอย่าลืม ต้องตอกย้ำแบรนด์ของตนเองอย่างสม่ำเสมอด้วย เพื่อความยั่งยืนอันเป็นผลระยะยาวของแบรนด์”

 

     Let’s Celebrate, Let’s Branding!!!